สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่าน นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)



ลัดเลาะสายน้ำ ส่อง ‘ต้นแบบ’ ชุมชนริมคลอง ยกระดับชีวิตด้วย ‘ที่อยู่อาศัย’ มั่นคง

โดย กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147 | 7 ธันวาคม 2563

858 วิว

   สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านริมคลอง ชุมชน กสม.พัฒนา ย่านสายไหม กรุงเทพมหานคร (กทม.) แตกต่างไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง ความระเกะระกะไร้ระเบียบ สิ่งปฏิกูล ตลอดจนปัญหาการรุกล้ำคลองสาธารณะที่มักพบเห็นกันอย่างชินตา กลับกลายเป็นภาพฝันใหม่ที่ได้รับการฟื้นฟูร่วมกันของคนในชุมชน
 
   คำบอกเล่าจาก พี่น้อย - ปราณี ชาวสวนแพร แกนนำชุมชน กสม.พัฒนา ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สัปดาห์สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (Side event) “บ้านสวย น้ำใส อยู่อย่างไรให้มีสุข” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา สะท้อนว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านริมคลองมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากเดิมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา
 
   พี่น้อย แม่ค้าขายกะหรี่ปั๊บ เล่าอีกว่า เมื่อ 5 ปีก่อน พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยบ้านเก่าๆ เสาผุๆ มองไปทางไหนก็พบเห็นแต่การรุกล้ำลำคลอง ที่สำคัญคือชาวบ้านไม่สามารถทำการปรับปรุงหรือซ่อมแซมที่พักได้เลย เนื่องจากการอยู่อาศัยเป็นไปอย่างผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงไม่อนุญาตให้ดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม
 
   “จะไปไหนมาไหนก็ยากลำบาก ทางเดินคับแคบ ขยะใต้ถุนบ้านก็ส่งกลิ่นเหม็นตลอดเวลา มีตัวเหี้ยมาหาของเน่าๆ กิน ไม่ต้องพูดถึงงูเหลือม ยุง แมลงวัน ตะขาบ แมงป่อง มีเยอะมาก ลูกเด็กเล็กแดงก็มีความเสี่ยง แต่ทุกคนก็ยังอยู่ได้เพราะความเคยชิน” พี่น้อยบอกเล่า
 
   จุดเปลี่ยนของ ชุมชน กสม.พัฒนา ซ.พหลโยธิน 54 เกิดขึ้นราวปี 2555 หนึ่งปีให้หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ โดยขณะนั้น มีทีมงานจาก พอช. เข้ามาสำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำ “โครงการบ้านมั่นคง”
 
   โครงการบ้านมั่นคงคือโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจนในชุมชนแออัด โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ปี 2559 “การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ”
 
   “นักวิชาการเขาก็เสนอมาว่าจะปรับเปลี่ยนอะไร จะทำกันอย่างไร ชุมชนก็กลับมาคุยกันว่าใช่สิ่งที่เราต้องการไหม แล้วก็ตัดสินใจ” แกนนำชุมชนรายนี้ อธิบาย และว่า เมื่อชาวบ้านเห็นพ้องร่วมกันว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทุกคนก็ให้ความร่วมมือ
 
   ผศ.ดร.มณฑล จันทร์แจ่มใส จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในฐานะหัวเรี่ยวหัวแรงหลักทางวิชาการ บอกเล่าเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวได้ร่วมงานกับ พอช. ในการสร้างแนวคิดและพัฒนาชุมชนริมคลองพื้นที่อื่นมาก่อนแล้ว ซึ่งสามารถถอดบทเรียนออกมาได้ว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น สัมพันธ์โดยตรงกับการได้รับความร่วมมือและความไว้วางใจจากคนในพื้นที่
 
   “เราพูดกันใน 2 เฟสใหญ่ๆ หนึ่งคือต้องเอาคนขึ้นมาจากน้ำและสร้างบ้านให้ได้ก่อน เมื่อเขามีบ้านแล้วก็จะเกิดงานอีกเฟสตามมา นั่นก็คือคุณภาพชีวิตในมิติอื่นๆ ทั้งการพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ อาชีพ รายได้” ผศ.ดร.มณฑล ระบุ พร้อมยกตัวอย่าง “แปลงผักเกษตรอินทรีย์” ของชุมชน กสม.พัฒนา ซึ่งนับเป็นดอกผลที่เกิดขึ้นจากการมีที่อยู่อาศัย นำไปสู่การสร้างอาชีพ รายได้ ได้จริง
 
   ผศ.ดร.มณฑล บอกอีกว่า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏมียุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะแบ่งพื้นที่กันรับผิดชอบ ดูทั้งเรื่องการศึกษา สังคม สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณ “ศาสตร์พระราชา” สำหรับพัฒนาท้องถิ่นโดยตรงด้วย ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจะผูกพันและเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกับชุมชน
 
   หากพิจารณาตามที่ “ผศ.ดร.มณฑล” ระบุ จะพบว่าที่อยู่อาศัยเป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่จะนำพาชุมชนไปสู่การมีสุขภาวะดี ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับมุมมองของ นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและสร้างการเรียนรู้ของภาคีเครือข่าย ภายใต้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.)
 
   “บ้านไม่ใช่เป้าหมาย แต่บ้านคือเครื่องมือที่จะนำพาคุณภาพชีวิตที่ดีมาสู่ทุกคน และลูกหลานที่กำลังเติบโตขึ้น เพื่อให้เขาไปได้ไกลกว่าเรา” นักสานพลังรายนี้ ระบุ
 
   ประธานอนุกรรมการฯ ขยายความว่า การเข้ามาของ พอช. เป็นการหนุนเสริมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาได้ ไม่ได้เข้ามาในรูปแบบการสงเคราะห์หรือช่วยเหลืออย่างเดียว นั่นทำให้ชุมชนมีความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต
 
   สำหรับ “โครงการบ้านมั่นคง” ชุมชน กสม.พัฒนา ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุซึ่งมีสัญญาเช่ายาวนานถึง 30 ปี โดยเจ้าของบ้านจะผ่อนชำระค่าบ้านต่อเดือนในอัตราที่ต่ำมาก “เจษฎา” เชื่อว่า เมื่อชาวบ้านมีความมั่นคงเรื่องบ้านในระดับหนึ่งแล้ว ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องมีอย่างมากคือวินัยในการผ่อนชำระ เพราะนี่คือบ้านที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของทุกๆ คน
 
   “เมื่อชาวบ้านอยู่กันอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แล้ว จากนี้ก็จะขอให้ สช.เข้ามาช่วยจัดกระบวนการ จัดทำธรรมนูญสุขภาพชุมชนเพื่อให้ชุมชนร่วมกันกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันต่อไป เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คนในชุมชน กสม.พัฒนา จะมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน” เจษฎา มั่นใจ
 
   ทางด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ คจ.สช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ “การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ” ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ว่าการสร้างสุขภาวะจะดูแต่เรื่องที่อยู่อาศัยไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่หรือทางกายภาพ หากแต่ต้องไปไกลและกว้างกว่านั้น นั่นคือ “การอยู่อาศัย”
 
   นพ.สมชาย บอกว่า สุขภาวะหรือความสมบูรณ์และสมดุลในชีวิต ต้องประกอบด้วย 4 มิติ คือ กาย อยู่อย่างไม่เสี่ยงโรค จิต อยู่อย่างไม่วิตกกังวล สังคม อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และปัญญา คือสามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์และโทษได้
 
   “นี่คือหัวใจและเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ด้วยเครื่องมือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องสานพลังทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกันโดยมีข้อมูลทางวิชาการเป็นที่ตั้ง” นพ.สมชาย ระบุ
 
   สำหรับทิศทางของ ชุมชน กสม.พัฒนา หลังจากนี้ ชาวริมคลองเห็นพ้องร่วมกันว่าจะขยายสวนผักให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ และจะผลักดันให้พื้นที่ริมคลองกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ กทม. โดยภาพในฝันของคนในชุมชนคือ “ตลาดริมน้ำ” ที่จะเป็นทั้งที่อยู่อาศัย และแหล่งรายได้ในอนาคต
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147