สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่าน นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)



เดินหน้า ชงตั้ง “ศูนย์อำนวยการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มุ่งจัดการการสื่ออย่างเป็นระบบ-มีเอกภาพ-สร้างความเชื่อมั่นให้

โดย กลุ่มงานสื่อสารสังคม | 20 ตุลาคม 2566

203 วิว

จาก มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่14 พ.ศ. 2564 มติ 14.3 การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ ด้วยบทเรียนสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารอย่างมีระบบและเป็นเอกภาพคือ กระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลายในทุกระดับ เกิดความเชื่อมั่น และสร้างความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย 

19 ต.ค. 66 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดประชุมระดมความเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการและการจัดตั้งศูนย์อำนวยการการสื่อสารในวิกฤตสุขภาพ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 14.3 การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ โดยมีนางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก, นายธีรวุธ กลั่นเลี้ยง, นางกอบเพชร หาญพัฒนพาณิชย์, ดร.พาหุรัตน์ คงเมืองทัยสุวรรณ์ ฯลฯ 


ที่ประชุมได้ระดมความเห็นต่อการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการฯ และมีข้อเสนอให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการการสื่อสารฯ ภายใต้กำกับสำนักนายกรัฐมนตรี วางเป้าหมายร่วมกันคือ ให้เกิดศูนย์กลางและบูรณาการแผนจัดการการสื่อสารในวิกฤตสุขภาพให้เป็นไปอย่างมีระบบ มีเอกภาพ และมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมอบหมายให้ สช. เร่งดำเนินการปรับปรุงร่างแผนฯ และร่างคำสั่งแต่งตั้งฯ ตามข้อเสนอของที่ประชุม พร้อมประสานงานเพื่อปรึกษาหารือแนวทางดำเนินการกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข และ สช.


สำหรับภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กรมประชาสัมพันธ์, กรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 


อนึ่ง “วิกฤตสุขภาพ” หมายถึง ภาวะทางสุขภาพในมิติทางกาย จิต สังคม และปัญญาที่ไม่อยู่ในภาวะปกติ อาจเกิดจากธรรมชาติหรือไม่ก็ได้ เป็นภาวะที่อยู่ในสถานการณ์อันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมโดยรวม ที่ควรต้องมีนโยบายหรือการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาภายในเวลาที่จำกัด