โดย กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9141 | 8 เมษายน 2564
สช. ขยายการมีส่วนร่วมในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ชักชวนกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ร่วมคิดพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาประเทศ พร้อมจัด “สมัชชาสุขภาพฯ เด็กเยาวชน” ครั้งแรก ปูพรมทุกภูมิภาค เพื่อกำหนดโจทย์-แสวงหาคำตอบ ที่ตรงจุดตามความต้องการ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) “แนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2564 เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่เตรียมจัดขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สช.ตั้งใจที่จะขยายการมีส่วนร่วมในงานสมัชชาสุขภาพฯ ให้มากยิ่งขึ้น โดยในปี 2564 จะชักชวนกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ กลุ่มคนเปราะบางให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการมากกว่าเดิม
ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความตื่นตัว และมีบทบาทสำคัญในการคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมข้างหน้า สช.จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้น เพื่อชักชวนเครือข่าย ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ เข้ามาเรียนรู้กระบวนการและเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศร่วมกัน
“ทิศทางหลังจากนี้คือการขยายวงกลุ่มคนรุ่นใหม่ สร้างเวทีเครือข่ายของคนทำงานรุ่นใหม่ เป็นสมัชชาเด็กและเยาวชนที่จะมีขึ้นในทั่วประเทศเป็นครั้งแรก เพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่เป็นปัญหาสำหรับเขา และจะเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมในสมัชชาสุขภาพของแต่ละจังหวัด ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงาน คนรุ่นเดิม ก่อนมาถึงสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว
นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า เสียงของคนรุ่นใหม่มีความสำคัญต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะในอนาคต การจัดกิจกรรมกับคนรุ่นใหม่ช่วยทำให้เห็นมุมมองและข้อเสนอที่หลากหลาย ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของรุ่นใหม่ด้วย
“สิ่งที่เหมือนกันคือ คนรุ่นใหม่เขาให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม การสร้างพื้นที่ร่วม แต่รายละเอียดที่อาจมองต่างกัน เช่น ที่ผ่านมาสมัชชาสุขภาพฯ จำแนกผู้เข้าร่วมเป็นกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะภาครัฐ วิชาการ ภาคประชาสังคม ตามระบบที่ถูกออกแบบ แต่คนรุ่นใหม่เขาไม่ปฏิเสธว่าเป็นใคร อาชีพอะไร มาจากไหน เขาจะมองหาคนที่มีความสนใจร่วมกัน มีความตื่นรู้ ต้องการเปลี่ยนแปลง” นางภารนี กล่าว
นางภารนี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คนรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้ปฏิเสธคนรุ่นเก่า แต่เขามองว่ายังคงมีเส้นแบ่งที่ไม่ได้เชื่อมต่อกันอยู่ ซึ่งจุดนี้จึงมีการเสนอให้เกิดพื้นที่กลาง เป็นแพลทฟอร์มหรือกระบวนการที่จะสลายเส้นแบ่ง ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่อยู่นอกกระบวนการสมัชชาฯ ที่จะไม่ถูกจำกัดการมีส่วนร่วม แต่สามารถเข้ามาเชื่อมร้อยกันได้
อนึ่ง กิจกรรมการ Workshop ดังกล่าว สช.ได้ชักชวนกลุ่มคนรุ่นใหม่และเยาวชนกว่า 50 คน มาร่วมกันระดมความเห็นบน 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่ 1. ปลุก พลเมืองตื่นรู้มีลักษณะเป็นอย่างไร เราจะสร้างพลเมืองตื่นรู้ได้อย่างไร 2. ปรับ ประเด็นทางสังคมและสุขภาพใหม่ยุคหลังโควิด-19 อะไรที่ควรได้รับความสนใจ ประเด็นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับใคร หน่วยงานใดบ้าง 3. เปลี่ยน คนรุ่นใหม่มีศักยภาพอะไรที่โดดเด่น และบนฐานของศักยภาพนั้นควรมีบทบาทในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างไร และ 4. ปัง จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร และมีช่องทางใดบ้างที่เราควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ
สำหรับงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2564 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564 ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) เดียวกับงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 คือ “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” โดยจะจัดในรูปแบบไฮบริด คือทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมได้กว่า 1 หมื่นคนทั่วประเทศ