สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่าน นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)



‘สมัชชาสุขภาพยะลา’ นำร่องแพลทฟอร์ม CCC ใช้แอปฯ บันทึกข้อมูล ‘ออกกำลัง-เล่นกีฬา’ พัฒนาฐานข้อมูลระดับชาติหนุน BCG Model

โดย กลุ่มงานสื่อสารสังคม | 16 พฤศจิกายน 2565

674 วิว

“สมัชชาสุขภาพยะลา” ประกาศมติขับเคลื่อนกิจกรรมทางกาย ผ่านแพลทฟอร์ม “Calories Credit Challenge” หลัง สช.-กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยกเป็นจังหวัดนำร่อง หนุนประชาชนบันทึกสถิติ “การออกกำลังกาย-เล่นกีฬา” ลงแอปพลิเคชัน สู่การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์ สร้างประโยชน์ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจใหม่ “BCG Model”

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยผู้แทนภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ภายใน จ.ยะลา เข้าร่วมเวที สมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ เรื่อง การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของประเด็นที่เตรียมเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 ในวันที่ 21-22 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ภาคีสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา ได้ร่วมกันประกาศมติ การขับเคลื่อนสุขภาพ (กิจกรรมทางกาย) ของประชาชนจังหวัดยะลา ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) โดยมีข้อเสนอในการจัดโมเดลพื้นที่นำร่องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และรูปธรรมการขับเคลื่อนกิจกรรมการออกกำลังกายภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ CCC + BCG ทั้งในเชิงบุคคลและเชิงพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการข้อมูล เชื่อมโยงสถิติการออกกำลังกายและเล่นกีฬา และสนับสนุนให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

ขณะเดียวกันยังส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสร้างวิถีของการออกกำลังกาย หรือจัดให้มีการออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ โดยกำหนดให้มีการจัดอาหารรองรับจากเครือข่ายเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามแนวทาง BCG Economy ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) รวมถึงสนับสนุนการออกกำลังกาย การท่องเที่ยวเชิงกีฬา และการจัดแข่งขันกีฬา ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชุมชน ที่เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานราก โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผยว่า จ.ยะลา เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถูกคัดเลือกให้เป็นเมืองกีฬา (Sports City) ของประเทศ ซึ่งเทศบาลนครยะลาได้ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการก้าวผ่านเหตุการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนใต้ และที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าแม้ในช่วงที่มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น แต่คนยะลาจำนวนไม่น้อยยังเลือกที่จะมาออกกำลังกายในเขตเทศบาล ด้วยเพราะเชื่อว่าท่ามกลางวิกฤตความเครียดนั้น การออกกำลังกายสามารถทำให้ผู้คนมีความสุข และมนุษย์เองที่เป็นสัตว์สังคม ก็จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งการเล่นกีฬาถือเป็นโอกาสที่ได้มาพบปะพูดคุยกัน

“คนยะลามีความผูกติดกับการออกกำลังกาย ที่เกี่ยวข้องไปถึงเรื่องสุขภาพ อย่างศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา เป็นจุดที่คนมาออกกำลังกายสูงถึง 4-5 พันคนต่อวัน และทางเทศบาลเองก็มีนโยบาย Smart Health ที่จะทำเรื่องของการฟื้นฟูสุขภาพโดยใช้ข้อมูล Open Data จึงคิดว่าแพลทฟอร์ม CCC + BCG ที่สมัชชาสุขภาพ และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทำนี้ จะสามารถเชื่อมโยงกับระบบที่เทศบาลกำลังออกแบบ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน จ.ยะลา ยังมีต้นทุนที่ดีใน 5 ด้าน คือ 1. ความสะอาด 2. ความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยนับเป็นจังหวัดที่มีผังเมืองดีที่สุดในประเทศไทย 3. สิ่งแวดล้อม มีความอุดมสมบูรณ์ จากดิน น้ำ อากาศที่ดี 4. การศึกษา และ 5. วัฒนธรรม

นางบงกชรัตน์ โมลี ผู้อำนวยการกองนโยบายการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ทางกระทรวงฯ และ สช. ได้เลือก จ.ยะลา ให้เป็นพื้นที่นำร่องการขับเคลื่อนแพลทฟอร์ม CCC + BCG อย่างเป็นทางการ ด้วยความพร้อมทั้งในเรื่องของสถานที่ บุคลากร ผู้คน และจากการสัมผัสยังพบว่าเป็นจังหวัดที่มีบรรยากาศเหมาะกับการออกกำลังกายที่สมบูรณ์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สวยงาม  ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ สภาพอากาศที่ดี และผู้คนมีอัธยาศัยที่ดี

สำหรับภาพรวมสถิติของแพลทฟอร์ม CCC ทั่วประเทศ ณ วันที่ 17 พ.ย. 2565 มีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมแล้วกว่า 1.17 แสนคน และมีผู้เข้าร่วมใหม่เพิ่มขึ้นวันละกว่า 1 พันคน โดยใน จ.ยะลา มีผู้เข้าร่วมรวม 615 คน มีการบันทึกข้อมูลแคลลอรี่สะสมเข้ามารวมแล้วกว่า 137,449 KCAL แม้อาจยังมีจำนวนน้อยขณะนี้ แต่หากต่อไปมีการสนับสนุนให้คนทั่วทุกพื้นที่ของ จ.ยะลา มีการออกกำลังกายและส่งข้อมูลเข้ามาในแอปพลิเคชันมากขึ้น ก็จะช่วยให้สามารถเห็นพฤติกรรมการออกกำลังกายในแต่ละพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล และสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีส่งเสริมให้คนออกกำลังกายมากขึ้นได้

นางบงกชรัตน์ โมลี กล่าวว่า การพัฒนาแพลทฟอร์ม CCC ของกระทรวงฯ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่วางเป้าหมายในการส่งเสริมให้คนไทยอย่างน้อย 50% มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นวิถีชีวิตให้ได้ในปี 2570 ขณะเดียวกันเรื่องการท่องเที่ยวภายใต้แผนแม่บทมีตัวชี้วัดว่าให้มีมูลค่าการท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ ในปี 2570 หรือเป้าหมาย GDP เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เรื่องกีฬาควรทำควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว ซึ่งแพลทฟอร์มนี้เองยังจะมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวได้ เช่น การถ่ายภาพระหว่างเดิน-วิ่งผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ มาประกอบผลการออกกำลังกาย และสามารถแชร์ไปยังสื่อออนไลน์ต่างๆ ได้

ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องของแนวคิดเศรษฐกิจ BCG Model ไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่เราจับต้องไม่ได้ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในชุมชนและเป็นสิ่งที่หลายชุมชนทำกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมโดยใช้วัสดุธรรมชาติ ลดขยะ มีการกำจัดของเสียอย่างถูกวิธี ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และเรื่องนี้ยังเป็นแนวทางหลักที่กำลังถูกผลักดัน มีการพูดถึงทั้งในการประชุมเอเปคที่กำลังจัดขึ้นอยู่ขณะนี้ หรือในระดับโลกก็มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

“เราอยากเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของสุขภาพ เมื่อพูดขึ้นมาแล้วไม่อยากให้นึกถึงเฉพาะมุมของการเจ็บไข้ได้ป่วย แต่อยากให้เกิดการมองเชิงบวกในเรื่องของการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ซึ่งสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ของเราในปีนี้ยังมีอีกสองเรื่อง คือการขจัดความยากจนตามโมเดล BCG กับเรื่องของหลักประกันรายได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่อยากจะเชิญชวนทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมพิจารณา และพัฒนาให้เป็นนโยบายในระดับประเทศต่อไป” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว 
 



แท็กที่เกี่ยวข้อง

NHA 15