โดย กลุ่มงานสื่อสารสังคม | 2 ธันวาคม 2565
“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15” เคาะฉันทมติแรก “การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน” มุ่งให้ทุกภาคส่วนประยุกต์ใช้โมเดล BCG ผสานองค์ความรู้-นวัตกรรม-ทุนพื้นที่ มาเป็นโอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก แก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศ
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีสมัชชาสุขภาพรายประเด็น การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 โดยมี นายเจษฎา มิ่งสมร เป็นประธานการพิจารณา
ทั้งนี้ ภาคีสมาชิกสมัชชาสุขภาพ ได้ร่วมกันให้ฉันทมติรับรองระเบียบวาระดังกล่าว เป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนและทุกระดับ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมี ความรู้ รู้เท่าทันและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนะแนวทางการบูรณาการในเชิงระบบ โครงสร้าง และประเด็นที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่เป็นการนำองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีอย่างครบวงจร มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติ ทุนทางศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก มุ่งเน้นในเรื่องความสามารถด้านการบริหารการเงินโดยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายโดยใช้
1. การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบแม่นยำและมุ่งเป้า
2. การบูรณาการกลไกการทำงานการขจัดความยากจนในระดับพื้นที่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG
3. การเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างผู้ประกอบการ BCG แก้จน และชุมชน BCG
4. การปรับโครงสร้างการบริหารและกลไกสนับสนุนเพื่อกระจายโอกาสสู่กลุ่มฐานราก
และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมของทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดเครือข่ายพลังของภาคประชาชนที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ ตลอดจนแนวทางการทำงานที่นำไปสู่การสร้างเสริม สุขภาพ สุขภาวะแวดล้อม สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการเรียนรู้ การศึกษาและทางสังคมมุ่งเน้นการตอบโจทย์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือน ขจัดความยากจนข้ามรุ่น และการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการจัดการในเชิงระบบอย่างยั่งยืน สอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15 และครั้งที่ 16 พ.ศ.2565-2566 เปิดเผยว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เดินทางมาแล้วเป็นระยะเวลา 15 ปี ได้กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนความต้องการผ่านกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ เช่นเดียวกับมติสมัชชาฯ ครั้งที่ 15-16 ที่ยังคงจิตวิญญาณของกระบวนการ ภายใต้แนวคิดหลักคือ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย”
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ในการจัดสมัชชาฯ ปีที่ 15-16 นี้ คจ.สช.ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของกระบวนการพิจารณา โดยแยกมติออกมาให้ภาคีสมาชิกสมัชชาฯ ร่วมกันให้ฉันทมติเห็นชอบเป็นรายประเด็น และเมื่อภาคีร่วมกันให้ความเห็นชอบแล้ว ภาคส่วนต่างๆ ก็จะสามารถกระจายไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกันได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 ซึ่งในวันดังกล่าวจะเป็นการนำทั้ง 3 ระเบียบวาระที่ได้รับฉันทมติไปแล้ว เข้ามารับรองและสร้างความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนร่วมกัน
ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะรองประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็น กล่าวว่า ปัจจุบันคนได้รับรู้และเข้าใจแนวคิด BCG มากขึ้น โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกต่างต้องการแนวคิดในการพัฒนารูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้มองเฉพาะการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังจะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ความเท่าเทียม เรื่องของสิ่งแวดล้อม และการให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกัน
“แม้การแปลงนโยบาย BCG มาสู่การปฏิบัติ อาจจะยังมีการตีความที่แตกต่างกัน แต่หัวใจสำคัญคือการที่เราจะใช้ความเข้มแข็งของพื้นที่เข้ามาเติมเต็มด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับการต่อสู้ความยากจน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของประเทศที่จะทำให้เราหลุดพ้นออกจากกับดักรายได้ปานกลาง จึงเชื่อว่าเวทีสมัชชาฯ จะช่วยสร้างกระบวนการ แนวคิด เครื่องมือใหม่ๆ ที่เพิ่มโอกาสในการขจัดความยากจน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และเชื่อมไปถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ได้ต่อไป” ดร.กาญจนา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของอีก 2 ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 คือ การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) จะมีการร่วมกันพิจารณาในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ และ หลักประกันรายได้เพื่อมุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะมีการพิจารณาในวันที่ 16 ธ.ค.นี้
“หลังจากที่เรามีฉันทมติเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกันแล้ว เรายังคาดหวังที่จะให้นโยบายเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนในการช่วยกำหนดนโยบายระดับภูมิภาค หรือในระดับจังหวัด และเชื่อมโยงกับการพัฒนาระหว่างประเทศได้ด้วย ซึ่งขณะนี้เราได้เปิดให้บุคคลทั่วไปและเครือข่ายที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่จะมีการจัดวันที่ 21-22 ธ.ค.นี้ ที่เราจะมาพูดคุยถึงมติต่างๆ ว่าจะขับเคลื่อน เดินไปข้างหน้าร่วมกันให้เกิดความเป็นรูปธรรมอย่างไรได้บ้าง” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว