สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่าน นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)



ถกนัดแรก! คกก.พัฒนานโยบายฯ ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ใช้กลไก ‘สมัชชาฯ เฉพาะประเด็น’ ดันเป็นมติ ครม. จัดทำข้อเสนอคุ้มครอง ‘เด็ก-เยาวชน’ แบบมีส่วนร่วม

โดย กลุ่มงานสื่อสารสังคม | 18 มกราคม 2567

860 วิว

คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เปิดวงถกนัดแรก! วางทิศทาง-ขอบเขตการขับเคลื่อนนโยบาย สานต่อ 5 มาตรการ คผยช. พร้อมจัดทำ ‘ร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย’ คุ้มครอง ‘เด็ก-เยาวชน’ ป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการตลาดบริษัทบุหรี่ คาด ก.พ. นี้ เปิดรับฟังความเห็นประชาชน ภายใต้กลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หวังคลอดเป็นนโยบายแบบมีส่วนร่วมที่ทุกหน่วยงานนำไปใช้ได้จริง

ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ณ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยกรรมการ ที่ปรึกษา และผู้แทนหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ได้ร่วมกันพิจารณาทิศทางและขอบเขตประเด็น ตลอดจนจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันถกแถลงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาระบาดในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งจากรายงานสำรวจสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมต้นของไทย อายุ 13-15 ปี โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี พ.ศ. 2564 พบเด็กนักเรียนใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 จาก 13.8% เป็น 14.7% โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มจาก 3.3% เป็น 8.1% ซึ่งเด็กนักเรียนส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ไม่เสพติด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นพ้องร่วมกันถึงข้อท้าทายการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ความรู้และความเข้าใจต่อสังคมที่ไม่ถูกต้องต่อบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการสื่อสารของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีพิษภัยต่อร่างกาย 2. การตลาดล่าเหยื่อ โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนด้วยรูปลักษณ์ที่ดึงดูด สารปรุงแต่งกลิ่นรสของบุหรี่ไฟฟ้า ราคาที่เข้าถึงได้ สร้างความดึงดูดให้เด็กและเยาวชนหันมาทดลองสูบ 3. การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จริงจังทั้งการห้ามนำเข้า ห้ามขายในช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการตลาดทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างมากและควบคุมได้ยาก 4. การแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่

ที่สุดแล้ว ที่ประชุมข้อสรุปร่วมกันถึงทิศทางและขอบเขตประเด็นในการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าว่า จะมุ่งเน้นปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะดำเนินการตามที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้เห็นชอบ “มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย” เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวม 5 มาตรการ

ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ มาตราการที่ 2 สร้างการรับรู้โทษพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน มาตรการที่ 3 เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า มาตรการที่ 4 พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และมาตรการที่ 5 ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น องค์ความรู้ ตลอดจนบทบาทและภารกิจของหน่วยงาน ก่อนจะร่วมกันจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะสำหรับควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ที่จะนำไปเป็นร่างแรกในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน ตามกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เปิดเผยว่า การประชุมกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าครั้งนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากกรรมการทุกคนที่เห็นความสำคัญของปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งแม้ว่าจะอยู่กันคนละภาคส่วนแต่ก็ให้ความสำคัญในปัญหาเดียวกัน โดยในการประชุมได้มีการสะท้อนถึงข้อติดขัดจากระเบียบปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่อาจเป็นอุปสรรคปัญหาสำหรับขับเคลื่อนเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้น จะนำไปประกอบการจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีความแหลมคมและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษากรรมการฯ กล่าวว่า การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า จำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และสาธารณชน เพื่อให้ทราบถึงภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า เพราะการเสพติดไปแล้วจะทำให้ต้องเสพไปตลอดชีวิต อีกทั้งปัจจุบันคนรุ่นใหม่และนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นวัยรุ่นยังมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ทำให้เลิกยากและไม่คิดที่จะเลิก

ขณะเดียวกัน ควรเข้มงวดในเรื่องมาตรการควบคุมและปราบปราม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบที่ชัดเจน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความรับผิดชอบได้ทำงานเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะเป็นการป้องกันกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่เริ่มนิยมบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ได้

นอกจากนี้ ภายในการประชุมยังได้มีข้อเสนออื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ยืนยันถึงความพร้อมในการปราบปราม หากมีนโยบายและข้อสั่งการที่ชัดเจน พร้อมทั้งสะท้อนถึงสภาพบังคับใช้จริง ที่ทุกวันนี้ในแนวทางการปฏิบัติยังไม่ได้เด็ดขาดกับเด็กและเยาวชน ตลอดจนแนวทางการสร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตราย การเสพติด และการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่ การประกาศให้สถานศึกษาทุกระดับเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า การสร้างกลไกเฝ้าระวังทางสื่อ ทั้งสื่อดั่งเดิม สื่อกระแสหลัก และสื่อออนไลน์ทุกช่องทาง ฯลฯ

นายสมเกียรติ ทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนหลังจากนี้ ภายในเดือน ก.พ. 2567 จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนต่อร่างข้อเสนอควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่คณะกรรมการฯ ได้ยกร่างขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้รับข้อเสนอเพิ่มเติมที่มีประโยชน์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“เมื่อจัดทำเป็นร่างนโยบายที่สมบูรณ์ ซึ่งผ่านการรับฟังและผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วยกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นแล้ว คณะกรรมการฯ จะมีการเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาเป็นมติ ก่อนส่งต่อให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อประกาศเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการเพื่อควบคุมและแก้ปัญหาในประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม” นายสมเกียรติ กล่าว



แท็กที่เกี่ยวข้อง

NHA 16