โดย สำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ (สสช.) | 15 ธันวาคม 2564
งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2564 เปิดฉากวันแรกอย่างคึกคัก! มีสมาชิกสมัชชาฯ และประชาชนเข้าร่วมนับหมื่นคน ขณะที่ภาคีเครือข่าย-สมัชชาจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานส่วนกลางร่วมกันให้ถ้อยแถลง พร้อมขับเคลื่อน 3 มติฯ อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดรูปธรรมพาไทยพ้นวิกฤตสุขภาพ
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ณ หอประชุมใหญ่ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้ประเด็นหลัก (ธีม) “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” โดยวันแรกนี้เป็นการเปิดประชุมทั้ง on-site และ online ของสมาชิกสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศกว่า 2,500 คน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมและฟังผ่านทาง FB live สช. และเครือข่ายอีกกว่าหมื่นคน
ทั้งนี้ งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ถือเป็นการขยายการมีส่วนร่วมครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนอกจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ แล้ว ยังได้เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบาง เครือข่ายผู้ป่วย นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้าร่วมอีกด้วย
นพ. ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้ง 14 (คจ.สช.) กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้สมาชิกสมัชชาฯ จะพิจารณาให้ฉันทมติและรับรองมติสมัชชาสุขภาพฯ ใน 3 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม 3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมจะมีหัวหน้าหน่วยงานราชการ องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งจากส่วนกลางและจังหวัดต่างๆ ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงร่วมกันที่จะขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง 3 มติ รวมถึงมติอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะอย่างแท้จริง
นายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวถ้อยแถลงว่า กต. ขอร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงการสนับสนุนข้อมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในการส่งเสริมให้มีหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิซึ่งไม่มีหลักประกันสุขภาพให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติแม้อยู่ในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ กต. พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการผลักดันการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายเพื่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศให้สามารถป้องกัน เตรียมพร้อมและรับมือกับโรคระบาดในอนาคตได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายโยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวกับที่ประชุมว่า ขอสนับสนุนร่างมติระเบียบวาระการจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ ในทุกประเด็น โดยเฉพาะในข้อ 3 เรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤตอย่างมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมและทั่วถึง และข้อ 4 เรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจร่วมกันให้กับคนในสังคม โดยมีความยินดีที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของแกนนำเยาวชนด้านการสื่อสารให้สามารถสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งในระดับส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และชุมชน อันจะนำมาสู่การดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างถูกต้องในช่วงภาวะวิกฤตสุขภาพ
นส.ประกายวรรณ อัศวสกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ แถลงว่า กรมประชาสัมพันธ์ขอชื่นชม คจ.สช. ที่ได้พัฒนาเอกสารร่างข้อเสนอที่ผ่านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และขอสนับสนุนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพครั้งนี้ ในทุกประเด็น
นางดวงพร อิฐรัตน์ ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยนาท กล่าวถ้อยแถลงว่า สมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยนาท ขอชื่นชมและเห็นด้วยกับ คจ.สช. และคณะทำงานวิชาการ ที่ได้พัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 ในทุกประเด็น เนื่องจากมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกกลุ่มวัยให้มั่นคงและปลอดภัยของจังหวัดชัยนาท
“สมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยนาท มีความมุ่งมั่นที่จะสานพลังภาคีทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของร่างมติดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยเน้นการขับเคลื่อนส่งเสริมประชาชนให้มีความเข้าใจและความรับผิดชอบ ที่สามารถสื่อสารบูรณาการทำงานร่วมกันในวิถีใหม่ ภายใต้การประสานพลังสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงองค์ความรู้และทุนศักยภาพที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ของหน่วยงานองค์กรภาครัฐและท้องถิ่นให้บรรลุประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านกายภาพและสังคมที่ยั่งยืนแก่ประชาชนและชุมชนต่อไป” นางดวงพร กล่าว
นายประกาศ เปล่งพานิชย์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข สสจ.ปทุมธานี ในฐานะเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เรามีความมุ่งมั่นในการเป็นภาคีเครือข่ายการทำงานร่วมกับ สช. และหน่วยงานภาคีการทำงานด้านสุขภาพทุกแห่ง ในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางในการประสานการทำงานของภาครัฐ มาสู่ภาคประชาชน ทั้งที่เป็นกลุ่มทั่วไปและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
“เราพร้อมสนับสนุนการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพในทุกสิทธิของประชาชนไทย ขอให้เข้าใกล้ร้อยละ 100 ทั้ง 3 คือ กองทุนข้าราชการ ประกันสังคม และประกันสุขภาพ รวมทั้งในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย ขอให้เข้าถึงสิทธิประกันสังคม และประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ขอให้ทุกหน่วยงานซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมาย และนายจ้าง ให้นำแรงงานต่างด้าวทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพให้ครบถ้วนด้วย” นายประกาศ กล่าว
ทางด้าน ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพจังหวัดสกลนครมุ่งมั่นสนับสนุนเรื่องการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในภาวะวิกฤตสุขภาพ พร้อมพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะ พชอ. จะเขยื้อน ขยับ ขับเคลื่อนงาน ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เน้นกลุ่มเป้าหมายสภาเด็กและเยาวชน มุ่งหวังเสริมสร้างเด็กกลิ้งโลกสุขภาวะดีถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน สร้างโลกทัศน์ใหม่ด้านการสื่อสารสาธารณะ พัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยการสื่อสารให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และหลากหลายช่องทาง
ทั้งนี้ สมัชชาสุขภาพจังหวัดสกลนครและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนขอสนับสนุนมติการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในภาวะวิกฤตสุขภาพทุกประเด็น โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจร่วมให้กับคนในสังคม มีความยินดีที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นเครือข่ายนักสื่อสารทางสังคมด้านสุขภาวะ อันจะนำมาสู่การดูแลตนเองและการสร้างสุขภาวะของชุมชนได้อย่างถูกต้อง ทั่วถึง และยั่งยืน ในช่วงภาวะวิกฤติสุขภาพ นำสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ต่อไป
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การกล่าวถ้อยแถลงหรือการให้พันธสัญญาที่จะขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมสุขภาวะ ถือเป็นมิติใหม่ของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยถ้อยแถลงหรือพันธสัญญาครั้งนี้จะถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งในเอกสารแนบของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9141