โดย กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147 | 20 กรกฎาคม 2563
รอง สสจ.สุราษฎร์ธานี เผยใช้กลไก “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” เชื่อมร้อยความร่วมมือทุกภาคส่วน สางปัญหา “ฟาร์มหอย-คืนพื้นที่สาธารณะ” อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ฯ หาทางออกบนผลลัพธ์ที่ดีทุกฝ่ายได้ทุกคน
ดร.ปรเมษฐ์ จินา รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี และผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพ จ.สุราษฎร์ธานี ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ สมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ฯ กับการจัดการทรัพยากรภูมินิเวศ "อ่าวบ้านดอน" ทางคลื่นความคิด 96.5 FM เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า สมัชชาสุขภาพจังหวัดเป็นหนึ่งในกลไกเวทีกลางที่ให้ 4 ภาคส่วน คือ ภาคราชการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาควิชาการ มาร่วมพูดคุยหาทางออก ในการจัดการระบบนิเวศของอ่าวบ้านดอนช่วงที่ผ่านมา
ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวถึงความเป็นมาย้อนกลับไปในช่วงปี 2522 - 2523 ว่า รัฐบาลได้มีการส่งเสริมการประมงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงหอยนางรม จากนั้นจึงส่งเสริมให้มีการจับจองพื้นที่และขึ้นทะเบียนกับกรมประมง เพื่อหารายได้ให้รัฐบาล จนในช่วงปี 2547 นโยบายของรัฐบาลได้ส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยออกเป็นโฉนดทะเล กระทั่งมาในยุคของการปฏิรูปช่วงปี 2557 ถึงปัจจุบัน ที่กำลังมาจัดระบบใหม่กันในขณะนี้
ทั้งนี้ เดิมทีชาวประมงพื้นบ้านได้รับการอะลุ่มอล่วยในการทำมาหากิน โดยมีข้อตกลงในการเลี้ยงหอยในระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม หนึ่งในจุดเริ่มต้นของปัญหา ย้อนกลับไปในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งใน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้หอยตายไปเป็นจำนวนมาก ชาวประมงพื้นบ้านที่เลี้ยงหอยแบบธรรมชาติจึงไม่มีเงินทุน และขายสิทธิจับจองให้กับผู้อื่น เกิดเป็นธุรกิจการเลี้ยงหอยโดยเฉพาะหอยแครง
ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าท่า ประมงชายฝั่ง ทหารเรือ ตำรวจน้ำ ได้จัดประชุมพร้อมตั้งคณะทำงานขึ้น โดยมีการใช้กฎหมายและไล่รื้อฟาร์มหอยภายใน 60 วัน ซึ่งขณะนี้ผ่านมากว่า 1 เดือนกว่า ได้มีการทยอยรื้อกันไปแล้ว ขณะเดียวที่ส่วนราชการได้ดำเนินการไป ส่วนสมัชชาสุขภาพจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็ได้เปิดเวทีกลางเชิญตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุยหาทางออก เพื่อเปิดให้เห็นมุมมองของแต่ละฝ่าย ซึ่งสมัชชาสุขภาพเป็นหนึ่งในเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ โดยการดำเนินงานต่างๆ ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ช่วยสนับสนุนให้เกิดการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้
“ก่อนหน้านี้อาจมีการกระทบกระทั่ง แต่วันนี้ทุกคนต่างต้องการหาทางออก ให้ทุกฝ่ายชนะร่วมกัน เพราะในพื้นที่ไม่มีผู้มีอิทธิพล มีแต่ความเป็นพี่เป็นน้อง ขณะเดียวกันยังมีเครื่องมือกลไกอื่นๆ อย่างธรรมนูญสุขภาพ ซึ่งเป็นกติกาข้อตกลงของพื้นที่ ทำให้วันนี้ทุกฝ่ายได้มาร่วมกันมองเพื่อชาวสุราษฎร์ในอนาคต” ดร.ปรเมษฐ์ ระบุ
ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวว่า ผลจากการพูดคุยดังกล่าว ทำให้แต่ละฝ่ายได้เห็นมุมมองและปัญหาของอีกฝ่าย ซึ่งข้อเสนอที่เกิดขึ้นได้ถูกรวบรวมและนำมาจัดหมวดหมู่ เช่นเดียวกับข้อมูลที่ได้จากในเวทีต่างๆ มารวมกันเป็นข้อเสนอ เพื่อส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องทำสิ่งใดบ้าง เช่น เรื่อง “ขนำ” หรือบ้านพักกลางน้ำนั้น ได้มีการเสนอทางออกว่า หากเป็นขนำขนาดเล็ก อยู่บนร่องน้ำที่เรือประมงจะต้องผ่าน เห็นสมควรว่าให้รื้อ แต่หากเป็นขนำขนาดใหญ่ที่ลงทุนหลักหลายล้านบาท และไม่อยู่ในร่องน้ำที่เรือจะต้องวิ่งผ่าน ได้เสนอให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน โดยยกให้หน่วยงานเจ้าท่าหรือศูนย์วิจัยชายฝั่งใช้ประโยชน์
“หลังจากนี้ยังเสนอว่าให้มีการเชิญตัวแทนทุกส่วนให้ครอบคลุม ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในคณะทำงานต่างๆ หน่วยงานที่ดูแลด้านกฎหมายมาพูดคุยรับฟังความเห็นกันในเวทีใหญ่ เพื่อร่วมกันหาฉันทมติให้ทุกฝ่ายได้มาหาทางออก โดยเฉพาะการที่เรามีประสบการณ์ในการสร้างเวทีกลาง บูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 จนได้รับการยอมรับในระดับโลก” ดร.ปรเมษฐ์ ระบุ
ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวอีกว่า ในแต่ละระดับยังมีกลไกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับเขต มีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ในระดับจังหวัดมีสมัชชาสุขภาพ ในระดับอำเภอมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งส่วนต่างๆ เหล่านี้เน้นการมีส่วนร่วม การพูดคุยและหาทางออกที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ ฉะนั้นในแต่ละจังหวัดหากเกิดปัญหาใด การหันหน้าเข้าหากันจะช่วยหาทางออกเพื่อจังหวัดของทุกคนได้