สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่าน นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)



ภาคีเครือข่าย ชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ ‘เสมา 1’ เอาจริง! ลุยประสาน ‘โอเปอเรเตอร์มือถือ’ คุมเข้ม ‘อีสปอร์ต’

โดย กลุ่มงานสื่อสารทางสังคม | 29 มิถุนายน 2563

992 วิว

   ผู้บริหาร สช. สานพลังเครือข่าย เคาะประตู “กระทรวงศึกษาธิการ” ชื่นชมที่จัดตั้งกลไกภายในเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ รมว.ศึกษาธิการ เอาจริง! พร้อมออกโรงประสาน “โอเปอเรเตอร์มือถือ” คุมเข้มโฆษณา-เฝ้าระวังผลกระทบเชิงลบจากเกม - อีสปอร์ต
 
   วันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำทีมผู้แทนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อ สุขภาวะเด็ก” สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เข้าพบ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อแสดงความชื่นชมที่กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 และสานพลังความร่วมมือกันเร่งผลักดันให้เกิดการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากอีสปอร์ตที่ยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายโดยเร็ว
 
   ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน แกนประสานเครือข่ายในการขับเคลื่อนฯ กล่าวว่า แม้ว่าอีสปอร์ตจะได้รับการประกาศให้เป็นกีฬาไปแล้วในปี 2561 แต่การจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ กลับไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรฐานหรือแนวทางที่เหมาะสม พบการจัดกิจกรรมขึ้นในโรงเรียน วัด หรือจัดการแข่งขันอย่างเสรีโดยภาคเอกชน เหล่านี้ทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่า การจัดการแข่งขันสามารถกระทำได้เพราะถูกรับรองให้เป็นกีฬาแล้ว
 
   ทั้งนี้ ตามกติกาสากลของอีสปอร์ตจะต้องมีมาตรฐาน ผู้เล่นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีการรับรอง มีการตรวจสุขภาพ มีผู้ปกครองให้ความเห็นชอบ ต้องมีการแบ่งเวลาซ้อมและแข่งขันอย่างเป็นระบบ ไม่ทำให้เสียสุขภาวะ หรือเกิดอาการติดเกมที่สร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือ ต้องมีการจัดเรตติ้งเกมในการแข่งขันด้วย
 
   “แม้แต่นมผงหรือของเล่นเด็กยังมีการระบุช่วงวัยที่เหมาะสม แต่เกม ซึ่งมีทั้งเกมที่เนื้อหาลามกอนาจาร ความรุนแรง มีการพนัน หรือพบเจอคนแปลกหน้าหลากหลายรูปแบบโดยที่พ่อแม่ไม่อาจรู้ได้ กลับยังไม่มีการจัด เรตติ้งหรือเนื้อหาที่เหมาะสมกับช่วงวัย และกลายเป็นธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาล แต่เป็นเงินที่มาจากกระเป๋าเด็ก ซึ่งก็เป็นเงินของผู้ปกครองที่อาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว” ดร.ธีรารัตน์ ระบุ
 
   ดร.ธีรารัตน์ กล่าวอีกว่า เป้าหมาย ไม่ได้มีเจตนาต่อต้านการแข่งขันเกม แต่ต้องการสร้างสมดุล ที่จะช่วยกันทำให้เด็กในแต่ละกลุ่มวัยสามารถเล่นเกมได้อย่างเหมาะสม มีสุขภาวะที่ดี ไม่กระทบต่อชีวิตของเด็ก เยาวชนและครอบครัว โดยขับเคลื่อนให้เกิดผลใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ต (2) สร้างมาตรฐานที่เป็นสากลเพื่อการปกป้องคุ้มครองเด็ก (3) บังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่ในการควบคุมกำกับ (4) จัดทำกฎหมายเพื่อกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกี่ยวกับเกม
 
   “รูปธรรมที่สุดเรื่องหนึ่งในขณะนี้คือ การร่างกฎหมายเกม ที่ใกล้เสร็จแล้วเกือบ 100% โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่พัฒนาข้อเสนอมาด้วยกันตั้งแต่ต้น และยังร่วมอยู่ในกระบวนการขับเคลื่อนจนถึงปัจจุบัน นับเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ รวมถึงการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ในสถานศึกษา ครั้งนี้ จึงประสงค์ขอทราบนโยบายและทิศทางของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำสู่การหารือกับภาคีเครือข่ายในรายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป” ดร.ธีรารัตน์ กล่าว
 
   นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. กล่าวว่า เรื่องเกมจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น และหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสมและสมดุล เพื่อไม่ให้กระทบกับสุขภาวะของเด็กในอนาคต จึงเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในวงกว้าง มาร่วมกันพูดคุย ถกเถียง และรับฟังกันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม
 
   “เห็นด้วยกับเป้าหมายการขับเคลื่อน ที่ไม่ขัดขวางการเจริญเติบโตของอีสปอร์ต แต่เป็นการสนับสนุนให้เกิดความเหมาะสม เพราะเด็กในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีหลายประเด็นที่ต้องกังวล ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและการเขาถึงที่ยังควบคุมไม่ได้ การจัดสรรเวลา ที่สำคัญคือ ผลกระทบของพัฒนาการทางสมองสติปัญญา ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญและส่งผลต่อเนื่องไปถึงกำลังคนที่เป็นอนาคตของประเทศ โดยหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์คือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ที่ควรตระหนักและร่วมรับผิดชอบในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้องและเหมาะสม”
 
   นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า จะรับหน้าที่ในการพูดคุยกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต เพื่อขอความร่วมมือในเรื่องการเผยแพร่สาระความรู้ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย การระมัดระวังอันตรายจากการเล่นเกมด้านต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ปกครอง สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการพูดคุยกับลูกอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเชื่อว่าการทำความเข้าใจกันด้วยเหตุผลกับเด็ก จะเป็นหนทางในการควบคุมที่เหมาะสมได้
 
   ด้าน ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกที่ให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ช่วยกันหนุนเสริมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจัดการระบบอาหารในโรงเรียน การให้บริการทางทันตกรรม หรือเรื่องอีสปอร์ตที่ได้หารือในครั้งนี้
 
   “ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เชื่อมโยงกับพัฒนาการเด็ก หรือเป็นทักษะชีวิตที่ต้องมาจากโรงเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทสำคัญ โดยในเรื่องอีสปอร์ตจะเห็นได้ว่าบริบทต่างๆ ของโลกเปลี่ยนไป คนส่วนหนึ่งนิยมเล่นเกม แต่เราจะเล่นอย่างไร จำเป็นต้องมีกติกาและความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยินดีที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนและสนับสนุนข้อมูล รวมถึงการจัดเวทีสาธารณะต่างๆ ต่อไป เพื่อร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือในด้านต่างๆ ร่วมกัน” ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุ
 
   ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน และในวันที่ 25 มิถุนายน ช่วงบ่าย ภาคีเครือข่าย 84 องค์กรทั่วประเทศ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านสังคมและด้านเด็ก ได้ร่วมกันแถลงการณ์หยุดความรุนแรงจากการเล่นเกมของเด็กไทยและยื่นหนังสือต่อ ครูหยุย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กและเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และ นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อสนับสนุนให้เกิดผลตามตามข้อเรียกร้องต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147