โดย สำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ | 6 มีนาคม 2567
😬🚑ฟันติดล้อ! เร่งเครื่อง จ่อเคลื่อน-เชื่อม ‘ท้องถิ่น’
‘คณะอนุฯ รถทันตกรรรมเคลื่อนที่’ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน จ่อเคลื่อน ‘ท้องถิ่น’ นำร่องต้นแบบรถทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน - รถทันตกรรมเคลื่อนที่ไฟฟ้า หวังให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการทันตกรรมได้ครอบคลุมขึ้น
📌วานนี้ (5 มี.ค.67) คณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการประสานและพัฒนาระบบบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน หนึ่งในกลไกของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำโดย ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 (ประธานอนุกรรมการ) ดร.ภูนท สลัดทุกข์ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (ประธานร่วม), ทพ.กฤษฎา ทิรานนท์ กรรมการทันตแพทยสภา, รศ.พรสวรรค์ ธนธรวงศ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นายวิรัช วีรวัฒน์ปรัชญา วิศวกรที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เดอะเดนท์มาร์เก็ต จำกัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่ สช. ได้ศึกษาดูรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ที่จอดอยู่ ณ กรมทหารราบ 11 บางเขน กรุงเทพฯ ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับพระราชทานในการรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 เพื่อเตรียมออกแบบและเสนอขอปรับเป็นรถทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน ให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้มากขึ้น
📍บ่ายวันเดียวกัน ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานการออกแบบดัดแปลงและผลิตรถไฟฟ้าสำหรับบริการลักษณะต่างๆ ของบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นแนวทางในการดัดแปลงรถทันตกรรมเคลื่อนที่แบบไฟฟ้าในการรองรับผู้สูงอาย, คนพิการ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง
❤️สรุปแนวทางการดำเนินงานจากนี้ แบ่งเป็น 2 เฟส
✅ เฟสแรกคือ การปรับรถเคลื่อนที่พระราชทานของกรมควบคุมโรค และทดลองใช้ในพื้นที่นำร่อง ก่อนสู่พื้นที่ขยายผลต่อไป ภายใต้การบริหารจัดการของ อบจ. โดยเบื้องต้นเน้นกลุ่มเป้าหมายคนพิการ ซึ่งทางทันตแพทยสภาจะออกแบบดัดแปลงรถทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน ประกอบด้วย คันเล็ก 2 คัน, 1 คันพ่วง และ 1 คันใหญ่ ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในการจัดทำข้อมูลรายละเอียดต่างๆ รวมถึงการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบที่มีความพร้อม เพื่อประสานให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาและจัดทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการสำหรับประกอบพระราชวินิจฉัยตามกระบวนการต่อไป
✅ ส่วนเฟส 2 คือ การใช้งานวิจัยและออกแบบดัดแปลงรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไฟฟ้า (EV) ในพื้นที่ อปท. ที่มีความพร้อม โดยจะดำเนินงานคู่ขนานกันไปทั้งสองเฟส มุ่งสู่เป้าหมายหลักคือ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านทันตกรรมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และครอบคลุมมากขึ้น