เมื่อถนนไทยครองแชมป์อันตรายที่สุดในโลกหรือเรามีผู้ขับรถที่แย่ที่สุดในโลกกันแน่!!! WHO ระบุว่าประเทศไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากลิเบีย ศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม (ศ.กทม.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หนุนภาคประชาชนเดินหน้าเกาะติดนโยบาย กทม. เริ่มจากลาดกระบังโมเดลและขยายผลพื้นที่ทั้ง 50 เขต
วันที่ 28 สิงหาคม 2561 ณ อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง มีการประชุมการป้องกันการบาดเจ็บจากการจราจรทางถนนและบูรณาการข้อมูลอุบัติเหตุจราจรทางถนนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 5 โดยมีนายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในกรุงเทพมหานครมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ ลาดกระบัง บางขุนเทียน หนองจอก ประเวศ มีนบุรี ในพื้นที่ลาดกระบังนั้นผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ 16-25 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไม่สวมหมวกกันน็อค ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และสภาพแวดล้อมทางกายภาพส่วนใหญ่เป็นนิคมอุตสาหกรรมและถนนมอเตอร์เวย์ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัดแจ้งว่า ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.อำเภอ) ทั้ง 76 จังหวัดมีการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนแล้ว เหลือแต่กรุงเทพมหานครยังไม่มี จึงเสนอให้ ศปถ.เขตทั้ง 50 เขต ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทด้วยเพื่อให้การดำเนินงานลดอุบัติภัยทางถนนมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมเห็นชอบ
ทั้งนี้ จากการทำกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนพื้นที่ลาดกระบังทั้ง 6 แขวงแล้วเพื่อชี้เป้า เฝ้าระวัง เครือข่ายพัฒนานโยบายสาธารณะกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก (9 เขต) ได้นำเสนอสรุปข้อมูลพื้นที่เสี่ยงและข้อเสนอต่อการป้องกันและลดอุบัติภัยทางถนน 5 แขวงในเขตลาดกระบัง ยกเว้นแขวงคลองสามประเวศได้รับการแก้ไขแล้ว โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) รับข้อเสนอไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ข่าวโดย : ฐิติมา สุวัตถิ นักวิชาการ ด้านนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ สช.