” งานกองทุนคืนสิทธิเพื่อสุขภาพผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรชาติพันธุ์ก็ดี งานความมั่นคงทางอาหาร/อาหารปลอดภัยสำหรับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองก็ดี หรืองานสุขภาวะผู้หญิงชาติพันธุ์ก็ดี เหล่านี้เราแยกทำโดดๆไม่ได้ ต้องทำเชื่อมโยงกับพหุภาคี ไม่ว่าจะเป็น สช.ที่มีกระบวนการธรรมนูญสุขภาพชาติพันธุ์ สมัชชาสุขภาพชาติพันธุ์ สมัชชาสุขภาพประเด็นภูมิปัญญาหมอเมือง หมอชาติพันธุ์ที่พยายามผลักดันระบบการแพทย์ชาติพันธุ์เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติรองรับ ,สปสช. ที่ดูแลกองทุนรวมไปถึงเครือข่ายนักสื่อสารหลักประกันสุขภาพที่พุ่งเป้าไปยังประชากรกลุ่มเปราะบางมากขึ้น , สสส. ที่มีงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงสื่อชุมชนที่ลงลึกถึงสุขภาวะแบบองค์รวม , โดยทั้งหมดนี้ล้วนมีกลไกเชื่อมโยงระดับพื้นที่เสมือนกองหน้าแนวรุกอย่างคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ.
แต่ลำพัง พชอ. เก่งยังไง ทำงานหน่วยเดียวก็ไม่ไหว สปสช. สช. สสส. เองถ้าขาดขุนพลภาคสนามก็ยากจะบรรลุชัย จำต้องมีกลไกหรือคณะทำงานคู่ขนานที่ทำงานร่วมกับ พชอ.ขึ้นมา อาจจะเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน หรือกลุ่ม / โครงการ / สมาคม อะไรก็แล้วแต่ แต่ตรงนี้ต้องมีเพื่อหนุนเสริมทัพระดับพื้นที่ซึ่งเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จ นี่คือการสานพลังอย่างเป็นระบบ และ ภายใต้ระบบนั้นหัวใจสำคัญคือการมีส่วนร่วม”
ทั้งหมดเป็นภาพรวมการนำเสนอบทเรียนจากการทำงานในพื้นที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นความคิดเชิงระบบจากการคลุกอยู่กับภาคสนามที่ผมมีโอกาสนำเสนอบนเวทีวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 9 ส.ค.ที่ผ่านไปนี้
ขอบคุณประสบการณ์และมิตรภาพดีๆจากพื้นที่ชุมชน ทั้งหมดนี่เป็นสิ่งที่ผมและสังคมไทยทุกคนยังมีช่องว่างทางความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ที่เรายังต้องหมั่นฝึกฝนอีกมากต่อมาก ให้กำลังใจกันและกันนะครับ
ข่าวโดย : วิสุทธิ เหล็กสมบูรณ์ SookSociety.North