คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทีมนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (ทีม 5 พลัง) ชุดการเรียนรู้ที่ 4 “การผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ” เขตสุขภาพที่ 6 นาป่า เมืองชลบุรี
เมื่อวันที่ 18-20 ตุลาคม 2560 ณ โรงแรมเจพาร์ค ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดชลบุุรี
นายสุรพงษ์ พรมเท้า รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทำพิธีเปิดและบรรยายนำ “เรื่องการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ในการอบรมครั้งนี้มีคณะวิทยากร เจ้าของโครงการ การประกอบด้วย ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.วิรัติ ปานศิลา มหาวิทยาลัยสารคาม ผศ.ทศพล สมพงษ์ สถาบันพระปกเกล้า อ.วินัย วงศ์อาสา ภาคประชาสังคม เป็นวิทยากรสลับสับเปลี่ยนการให้ความรู้และเติมเต็มให้กับผู้เข้ารับการอบรมของเขตสุขภาพที่ 6 ประกอบไปด้วย 8 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด และระยอง สำหรับแนวคิดการสร้างทีม 5 พลังนั้น สช.มีแนวคิดการสร้างคนสร้างทีม ในการทำงานยากๆ เช่น การมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายสาธารณะ เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
ในปี พ.ศ.2559 นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพสุขภาพ (สช.) ได้เสนอทิศทางและภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้แผนงานหลักของสช. ฉบับที่ 3 โดยเน้นบูรณาการขบวนการปฏิรูปสุขภาพ , ปฏิรูปสังคมเข้มแข็ง , ขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนจิตสำนึก วิธีคิด พฤติกรรมสุขภาพและสร้างความเป็นพลเมือง , ขยายกำลังเครือข่ายนักปฏิรูป , เปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม , ผลักดันกฎหมายปฏิรูปสังคมและระบบสุขภาพ
โดยมีแนวทางการดำเนินงานในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อถือไว้วางใจและพันธมิตรการปฏิรูป , การขยายเครือข่ายปฏิบัติการและนวัตกรรมการปฏิรูป , ผนึกกำลังพลเมืองและองค์กรภาคีเครือข่ายทุกพื้นที่ , เสริมความเป็นสถาบันเชิงเครือข่ายทางวิชาการ , บ่มเพาะบุคลากรและผู้นำรุ่นใหม่
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ ไว้ว่า “ระบบสุขภาพไทยพัฒนาจากกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา” โดยมีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “4PW”
P : Process (กระบวนการ)
P : Policy (นโยบาย)
P : Public (สาธารณะ)
P : Participation : (การมีส่วนรวม)
W : Wisdom (ปัญญา)
สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมปรึกษาหารือกับผู้เขียนและทีมวิชาการที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ในการอบรมเชิงปฏิบัติการการทำงานชุมชน ท้องถิ่นและสังคม โดยเน้นการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ สรุปบทเรียนและก้าวไปข้างหน้า ได้ร่วมกันจัดหลักสูตร 5 ชุดการเรียนรู้ ประกอบด้วย
สร้างแรงบันดาลใจ การสร้างความดีร่วม การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและการทำงานเป็นทีม ค่านิยม ทัศนคติ จิตสาธารณะ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แนวคิดและทักษะการบูรณาการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม หลักและแนวคิดในการวางแผนพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบาย ผลที่ต้องการ คือ บุคลากรในพื้นที่มีค่านิยม ทัศนคติ จิตสาธารณะ มีความรู้ ทักษะในการเป็นวิทยากร และพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะได้ ทำงานเป็นทีมได้
สร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะ หลักคิด องค์ประกอบนโยบายสาธารณะ การคัดเลือกประเด็นร่วมของจังหวัดที่เป็นจุดคานงัด การบริหารจัดการและการสื่อสารสาธารณะ ผลที่ต้องการ คือ ได้ประเด็นนโยบายและกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม
จัดทำการวิจัยแก้ปัญหาสาธารณะและเครื่องมือสมัชชา ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย หลักคิด ความหมาย ของธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบสุขภาพ กระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่/ประเด็น การวิจัยแก้ปัญหาแบบปฏิบัติการมีส่วนร่วม และการนำประเด็นของจังหวัดที่เป็นจุดคานงัด (การคัดเลือกประเด็นร่วม) มาเป็นโจทย์วิจัย การบริหารจัดการและการสื่อสารสาธารณะ ผลที่ต้องการ คือ ได้เครื่องมือสมัชชา และ ข้อมูลจากการวิจัย
ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ การวางแผนนโยบายฯ การพัฒนาข้อเสนอหรือทางเลือกนโยบาย การขอมติรับรอง การวางแผนขับเคลื่อนและผลักดันนโยบาย, การปฏิบัติการที่ดี (Best Case) การสื่อสารนโยบาย การเจรจาต่อรอง การประสานงานและการผลักดันนโยบายฯ ผลที่ต้องการ คือ ได้ข้อเสนอทางเลือกนโยบายที่เป็นลายลักษณ์อักษรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีแผนปฏิบัติการ มีการปฏิบัติการจริงตามแผนโดยเครือข่ายฯ มีการประสาน/ผลักดันนโยบายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , หน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้องและยุทธศาสตร์จังหวัด
สรุปบทเรียนการจัดการความรู้และการติดตามประเมินผล แบบเสริมพลังกับการวางแผนพัฒนานโยบาย ผลที่ต้องการ คือ มีเครื่องมือการสรุปบทเรียนและทำเป็น เช่น After Action Review (AAR) สร้างระบบสารสนเทศ มีแนวทาง/คู่มือการทำงาน มีการขยายผลสู่พื้นที่/ประเด็นอื่นๆได้ ทำการติดตามและประเมินผลแบบเสริมพลังได้
การเสริมสร้างคนและทีมนโยบายสาธารณะ หรือเรียกว่า “ทีม 5 พลัง” ประกอบด้วยพลังภาคีเครือข่ายประเด็นต่างๆในพื้นที่ พลังข้อมูลจากการวิจัย พลังนโยบายสาธารณะ พลังบริหารจัดการ และพลังสื่อสาธารณะให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถคิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์เป็น มีจิตสาธารณะ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความดีร่วม มีแรงบันดาลใจร่วมกัน ในกระบวนการนโยบายสาธารณะ มีการใช้กระบวนการสมัชชา , ธรรมนูญสุขภาพและการประเมินผลกระทบสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 และเครื่องมือทางวิชาการอื่นๆ ที่ประยุกต์จากการปฏิบัติจริงนี่จึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญยิ่งในกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (4PW)
ภาพ/ข่าว โดย : ธนาคาร ผินสู่ ทีมข่าว สนข.ไทยอินดิเพนเดนท์